
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ หนึ่งในแนวคิดที่เกิดขึ้นและได้รับการพูดถึงอย่างมากคือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่นำวิธีคิดแบบนักออกแบบมาใช้ออกแบบ ‘ชีวิต’ ประจำวัน และขยายไปถึงชีวิตการทำงานและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
แต่ขณะเดียวกัน หลายคนอาจมองว่ากระบวนการคิดเชิงออกแบบเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะการพูดถึง ‘กระบวนการ’ อาจชวนให้นึกถึงเรื่องที่มีขั้นตอนซับซ้อน ยังไม่นับว่า เรื่องของ ‘การออกแบบ’ กับ ‘ชีวิต’ ดูจะเป็นสองคำที่ยากจะอยู่ด้วยกันได้ – เพราะอย่างที่เรารู้กันดี ชีวิตไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถขึ้นโครงหรือหลอมพิมพ์ได้ตามใจชอบ ไม่สามารถจะเลือกสีหรือเครื่องประดับตกแต่งได้แบบที่ใจหวัง
ซ้ำร้าย บางครั้งชีวิตยังเต็มไปด้วยหลุม บ่อ คอยหลอกล่อให้เดินตกลงไปอีกต่างหาก!
ไม่ผิดถ้าคุณจะคิดเช่นนั้น แต่เราอยากชวนลองมองอีกมุมหนึ่งว่า แม้ชีวิตอาจไม่สามารถถูกออกแบบได้ทั้งหมด แต่กระบวนการคิดเชิงออกแบบสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทุกแง่มุมและทุกเศษเสี้ยวชีวิต เพื่อนำไปสู่การเติมเต็มและสร้างชีวิตที่อิ่มเอมและมีความสุขได้
ฮุก เลิร์นนิ่ง (Hook Learning) ชวนทำความรู้จักกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบง่ายๆ พร้อมสำรวจว่ากระบวนการคิดเชิงออกแบบจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราได้อย่างไร ตั้งแต่ในระดับบุคคลไปจนถึงภาพใหญ่ในระดับนโยบาย
แม้ชีวิตไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ก็ออกแบบได้ด้วย ‘กระบวนการคิดเชิงออกแบบ’ (Design Thinking)
หากสรุปให้ง่ายและรวบรัดที่สุด กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) เป็นวิธีการแก้ปัญหา ‘เชิงสร้างสรรค์’ โดยความสร้างสรรค์ที่ว่าต้องมาจากการทำความเข้าใจ ‘กลุ่มเป้าหมาย’ อย่างลึกซึ้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ ออกมา ลดความเป็นตัวเอง และเอา ‘เขา’ มาใส่ในตัว ‘เรา’ มากขึ้น เพื่อหาทางแก้ปัญหา
ทั้งนี้ ต้องบอกคุณก่อนว่า ‘กลุ่มเป้าหมาย’ ในที่นี้จะเป็นกลุ่มไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทที่เรากำลังพูดถึง ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ คือ เมื่อเรากำลังพูดถึงปัญหาชุดนักเรียนและทรงผมนักเรียน กลุ่มเป้าหมายของเราจะหมายถึงนักเรียน ผู้ปกครอง หรือคุณครูในโรงเรียน ที่เรากำลังจะนำวิธีแบบนักออกแบบไปใช้ทำความเข้าใจและแก้ปัญหาให้พวกเขานั่นเอง

แนวคิดดังกล่าวเริ่มเป็นที่พูดถึงจากหนังสือขายดีอย่าง คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking (Designing Your Life: How to Build a Well-Lived, Joyful Life) (จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ Bookscape) โดยบิล เบอร์เนตต์ (Bill Burnett) และ เดฟ อีวานส์ (Dave Evans) สองนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นนำที่นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบชีวิต เพื่อนำไปสู่การออกแบบชีวิตที่มีความหมายและแสนสุข
ด้วยแนวคิดที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์นี้เอง ทำให้กระบวนการคิดเชิงออกแบบถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบชีวิตหลายด้าน ทั้งชีวิตทั่วไป ชีวิตการเรียน หรือชีวิตการงาน โดยมีแก่นหลักเป็นการพยายามทำความเข้าใจคนอื่น หรือพูดอีกแง่คือการมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น โอบรับความเป็นมนุษย์ของคนอื่นด้วยหัวใจที่มีเลือดเนื้อของเราเองก่อน จากนั้นจึงเริ่มมองหาหนทางแก้ปัญหาและอาจสร้างต้นแบบ (prototype) เพื่อช่วยแก้ปัญหานั้นๆ
ถ้าคุณยังไม่เห็นภาพว่ากระบวนการคิดเชิงออกแบบเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราอย่างไร และทำไมเราถึงควรประยุกต์ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบในชีวิต ขอชวนให้อ่านตัวอย่างด้านล่างนี้ดู และคุณจะรู้ว่ากระบวนการคิดเชิงออกแบบอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด
เพราะ ‘กระบวนการคิดเชิงออกแบบ’ เริ่มต้นได้ตั้งแต่ในครอบครัว
ถ้าการใช้ชีวิตมันยาก การเป็นผู้ปกครองของเด็กสักคนก็เหมือนหนึ่งในด่านโหดหินที่สุด เพราะเราทุกคนต่างต้องเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นครั้งแรก และแน่นอนว่ามันไม่ง่ายเลยกับการฝ่าฟันเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน พร้อมกับเลี้ยงดูปูเสื่อชีวิตที่ฝากไว้กับเรา
ขณะที่มองกลับมาที่เด็ก ก็อาจจะบอกว่าการเป็นเด็กมันไม่ง่ายเช่นกัน หลายคนต้องแบกรับแรงกดดันมหาศาลทั้งของตนเองและของครอบครัวที่ถาโถมลงมา เจอปัญหาทั้งในบ้านนอกบ้านไปพร้อมๆ กัน และถึงหลายคนจะชอบมองว่า เป็นเด็กจะไปเครียดอะไร แต่อย่าลืมว่าทุกช่วงชีวิตล้วนเจอปัญหาหนักหนาในแบบของตนเองเสมอ
แล้วถ้าเราลองนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้กับเรื่องของครอบครัว เราจะทำได้อย่างไร ลองอ่านตัวอย่างสนุกๆ ที่เรานำมาฝากดู และเราเชื่อว่าต้องมีสักครั้งแหละที่คุณก็เจอปัญหาคล้ายกันนี้เหมือนกัน
Arup Roy ได้แชร์ประสบการณ์ของตนเองในเว็บไซต์ uxplanet เกี่ยวกับการนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้แก้ปัญหา โดยปัญหาของ Roy คือ การที่ลูกสาววัย 8 ขวบของเขากลับมาจากโรงเรียนและมักจะลืมของไว้เสมอๆ Roy อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ลูกสาวของเขาเป็นคนที่ค่อนข้างเฉลียวฉลาดในด้านวิชาการ แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์สุนทรีย์และความคิดสร้างสรรค์จนอาจลืมนึกถึงความสำคัญของระเบียบและการจัดการไป
Roy เล่าเพิ่มเติมด้วยว่า ลูกสาวของเขาถึงกับได้บัตรสีแดง (red card) จากคุณครูที่โรงเรียนเพื่อช่วยให้ใส่ใจในเรื่องที่ควรใส่ใจมากขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอก็กลับกลายเป็นคนไม่มีระเบียบวินัยและขี้ลืมอีกครั้ง
“ผมตระหนักได้ว่าลูกต้องการความเห็นอกเห็นใจมากกว่าสอนสั่ง” Roy สรุป พร้อมกับเริ่มทำแบบสำรวจ (survey) ที่สำรวจเด็ก 8 ขวบขึ้นมา แต่การทำเช่นนี้กับเด็กอายุน้อยไม่ใช่เรื่องง่าย Roy จึงใช้วิธีคุยกับลูกสาวของเขาและผู้ปกครองคนอื่นๆ ในชั้นเรียนผ่านแอปพลิเคชัน WhatsApp
และนี่คือสิ่งที่ Roy ได้ หลังจากทำแผนที่กิจกรรมของลูกสาวตลอดทั้งสัปดาห์ – ลูกสาวของเขาไม่ใช่คนขี้ลืมหรือไร้ระเบียบอย่างที่ทุกคนคิด เพราะสิ่งที่ Roy พบในกลุ่ม WhatsApp ของผู้ปกครองคือ กลุ่มดังกล่าวกลายเป็นกลุ่ม ‘ของหายแต่ได้คืน’ มากกว่า ‘กลุ่มของหายแต่ไม่ได้คืน’ นั่นหมายความว่าไม่ใช่แค่ลูกสาวของ Roy ที่ลืมของ
ข้อสังเกตต่อไปคือ เด็กๆ จะต้องแบกกระเป๋าสำหรับเรียนพลศึกษาไปโรงเรียนทุกวันจันทร์ ซึ่งในกระเป๋าจะมีชุดพละ ชุดฮอกกี้ ชุดว่ายน้ำ และอีกมากมาย และจะต้องนำกระเป๋านั้นกลับบ้านในวันศุกร์เพื่อซักเสื้อผ้า ก่อนจะนำกระเป๋ากลับไปโรงเรียนในวันจันทร์อีกครั้ง
“เด็กๆ ต้องไปโรงเรียนโดยสวมชุดเครื่องแบบปกติ และเปลี่ยนเป็นชุดอื่นๆ ที่โรงเรียนตามคำสั่ง นี่แหละทำให้เด็กมักจะทำของที่เกี่ยวกับชุดเครื่องแบบหายเสมอ รวมถึงของที่อยู่ในกระเป๋าแบบทั่วๆ ไป เช่น หนังสือ เครื่องเขียน ก็หายเช่นกัน” Roy กล่าว “เราต้องระลึกไว้ว่าของพวกนี้มากเกินไปสำหรับเด็ก มันเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องการวิธีแก้ไขปัญหาเชิงระบบ”
เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเชิงสร้างสรรค์ Roy เริ่มการระดมสมองกับกลุ่มผู้ปกครองโดยนำลูกสาวของเขาเข้ามาร่วมด้วย ผลปรากฏว่าความคิดที่ได้ทั้งหลากหลายและสร้างสรรค์ อาทิ ให้เด็กขี้ลืมนั่งกับเด็กที่มีระเบียบวินัย ส่งคำขอให้โรงเรียนอนุญาตให้เด็กสวมชุดกีฬาไปจากบ้านได้เลย
อย่างไรก็ดี นี่อาจจะแก้ปัญหาเรื่องเครื่องแบบได้ แต่ยังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องของทั่วไป (หนังสือ เครื่องเขียน ฯลฯ) หายเสียทีเดียว จึงเกิดเป็นวิธีแก้ปัญหาหนึ่งขึ้นมาคือ การทำเช็กลิสต์ของที่นำไปโรงเรียนในแต่ละวัน
“เราค้นพบว่า ของสิ่งเดียวที่เด็กต้องนำไปโรงเรียนและนำกลับมาทุกวันคือ คู่มือเตรียมความพร้อมของนักเรียน (Prep book) ซึ่งต้องให้ทั้งผู้ปกครองและคุณครูเซ็นชื่อ เราจึงติดเช็กลิสต์นี้ไว้ที่ด้านหลังของคู่มือ”
Roy รวมทีมกับลูกสาวเพื่อเช็กลิสต์ที่ครอบคลุมของที่ต้องใช้ในทุกวันและทุกสัปดาห์ เพื่อให้เด็กๆ ใช้เช็กลิสต์นี้เช็กสิ่งของก่อนกลับบ้านในทุกวัน ซึ่ง Roy ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองบางคนในการใช้เช็กลิสต์นี้เพื่อทดสอบเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าเด็กๆ แทบจะไม่ลืมหรือทำของใดหายเลย
“นี่เป็นวิธีง่ายๆ และชัดเจนที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป เพราะเราเอาแต่โทษลูกๆ ของเราจากระบบที่ผู้ใหญ่เป็นคนออกแบบขึ้นมา” Roy กล่าวสรุป “ซึ่งจริงๆ แล้ว ข้อผิดพลาดอยู่ที่การออกแบบ [ระบบ] ไม่ใช่ผู้ใช้งาน”
จะเห็นว่าเมื่อนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้ตั้งแต่เริ่ม โดยตั้งต้นที่ความเห็นอกเห็นใจ มองปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย (ซึ่งในที่นี้คือผู้ปกครอง เด็กๆ ในชั้นเรียน รวมไปถึงคุณครู) และร่วมระดมสมองหาวิธีแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ จะทำให้ปัญหาที่ดูเหมือนยากสามารถคลี่คลาย ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน และส่งผลให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นตามลำดับ
ขณะที่ในมุมมองของเด็ก การเรียนรู้ในเรื่องกระบวนการคิดเชิงออกแบบถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอย่างที่เราบอกไปแล้ว ปัญหาของเด็กก็หนักหนาไม่แพ้ปัญหาของผู้ใหญ่ การเรียนรู้กระบวนการคิดเชิงออกแบบจึงเปรียบเสมือนการมีแผนที่นำทางในโลกแห่งความไม่รู้ ผนวกรวมไปกับการมองโลกผ่านการมีความเห็นอกเห็นใจเป็นฐานสำคัญ เพื่อช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบโตและยืนหยัดบนความผันผวนได้อย่างดี
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบยังช่วยในเรื่องความสร้างสรรค์ (creativity) ของเด็กอีกด้วย เพราะการที่เด็กทำอะไรสักอย่างโดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากจะทำให้งานเกิดประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแล้ว การที่เด็กต้องเริ่มตั้งแต่การมองและนิยามปัญหาไปจนถึงการสร้างต้นแบบ (prototype) ตามหลักของกระบวนการคิดเชิงออกแบบยังจะช่วยปลูกฝังความคิดแบบ ‘ผู้สร้าง’ (maker mindset) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ ‘ที่จะเรียนรู้’ พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ การวางแผน และทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในระยะยาว
หาทางออก #ชุดนักเรียน (ไทย) ด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ

ในงานเสวนาเปิดตัวแพลตฟอร์มฮุก เลิร์นนิ่ง (Hook Learning) ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หนึ่งในแฮชแท็กที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการเสวนาคือ #ชุดนักเรียน ไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างทรงผมนักเรียน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาคลาสสิกในสังคมไทยที่ถกเถียงกันมายาวนาน ชนิดที่ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย เรื่องนี้ก็มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอ
บทความของเอกศาสตร์ สรรพช่าง ได้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับชุดนักเรียนไทยและกระบวนการคิดเชิงออกแบบได้อย่างน่าสนใจ โดยเอกศาสตร์ตั้งต้นบทความที่ว่า:
“อย่างแรก เราไม่ควรตั้งต้นที่ว่าเราควรมีหรือว่าไม่ควรมี แต่ต้องลองถามกันก่อนว่า การเรียกร้องที่เกิดขึ้นนั้นมาจากอะไร เขารู้สึกอย่างไร และหากมองว่านักเรียน ผู้ปกครองคือกลุ่มลูกค้าหรือพนักงานในองค์กร ชุดนักเรียน ณ เวลานี้ตอบโจทย์เขาหรือไม่ หรือปัญหาของ ‘ชุด’ นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่”
เอกศาสตร์ สรรพช่าง
จะเห็นว่าการมองดังกล่าวสะท้อนหัวใจหลักของกระบวนการคิดเชิงออกแบบได้อย่างชัดเจน ทั้งการตั้งต้นที่ ‘ความรู้สึก’ ของผู้สวมใส่ก่อนเป็นอันดับแรก และการมองไปที่การตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้า (ในที่นี้คือนักเรียนและผู้ปกครอง) เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป
เมื่อมองไปที่ ‘ปัญหา’ ของชุด เอกศาสตร์ชี้ว่าปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดปัญหาคือ ชุดนักเรียนไทยไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ทั้งการที่ชุดนักเรียนเป็นสีขาว ชุดลูกเสือเนตรนารีหรือเครื่องแบบเสริมต่างๆ ที่นอกจากจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทยแล้วยังเป็นการเพิ่มภาระค่าเครื่องแต่งกายมากขึ้นไปอีก
ยังไม่นับว่า หลายคนมักจะอ้าง ‘การลดความเหลื่อมล้ำ’ เป็นเหตุผลหลักของการมีชุดนักเรียน ทว่าการคิดแบบนั้นอาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะถ้าเด็กคนไหนในโรงเรียนใส่เสื้อเก่าจนเป็นสีเหลืองหรือมีรอยขาดปะชุน ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนคนอื่น ก็อาจจะโดนเด็กคนอื่นล้อเลียนได้ หรืออย่างที่เอกศาสตร์ชี้ให้เราเห็นแง่มุมที่น่าสนใจว่า “…เราก็ยังเห็นโฆษณาผงซักฟอกที่เอาเสื้อนักเรียนขาวสะอาดมาเป็นจุดขายเสมอ”
อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะเปลี่ยนจากการมีเครื่องแบบมาเป็นการใส่อะไรก็ได้ไปเรียน อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป ดังที่ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าวในงานเปิดตัวฮุก เลิร์นนิ่ง ไว้อย่างน่าสนใจว่า การสั่งเลยว่าไม่ต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนโดยไม่ได้ผ่านการพูดคุยหรือตกลงร่วมกันเป็นเรื่องที่ ‘อันตราย’ และเป็นการใช้อำนาจที่เหนือกว่าอย่างหนึ่งเช่นกัน

หากเราลองนำหลักคิดของกระบวนการคิดเชิงออกแบบมาใช้จับกับเรื่องนี้ มองที่ปัญหาของกลุ่มลูกค้าชุดนักเรียน (ซึ่งในที่นี้คือนักเรียนและผู้ปกครอง) เราจะเห็นว่าปัญหาพื้นฐานคือเครื่องแบบที่ไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโรงเรียน ไปจนถึงการมีชุดเครื่องแบบมากมายจนเป็นภาระค่าใช้จ่ายสำหรับหลายครอบครัว การจะเริ่มแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงอาจไม่ใช่การไม่มีชุดนักเรียนเลย แต่เป็นการออกแบบชุดนักเรียนให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง
ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เอกศาสตร์ยกตัวอย่างเครื่องแบบของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยที่ดูแลรักษาง่าย คล่องตัว หรือบางที่ใช้แค่เสื้อยืดโปโลที่มีตราโรงเรียนเป็นเครื่องแบบ รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงตัวตนออกมาเล็กน้อย เช่น ทรงผม สีผม หรือการใส่เครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ (และแน่นอน นี่ไม่เท่ากับการใส่อะไรก็ได้หรือทำอะไรก็ได้) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาพื้นฐานที่ว่ามาได้
ขยับมาที่โรงเรียนไทย หนึ่งในโรงเรียนที่ไม่ได้บังคับให้นักเรียนต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนคือ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง ธนกฤต ขันธจิตต์ นักเรียนจากสาธิต มธ. ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า นักเรียนของโรงเรียนมีการรวบรวมความเห็นสร้างเป็นธรรมนูญนักเรียน หรือกฎของโรงเรียนที่บังคับใช้ร่วมกัน แต่กฎดังกล่าวมาจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายจนได้ข้อสรุปร่วมกันในที่สุด

จะเห็นว่า การแก้ข้อถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาชุดนักเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนแก้ไม่ได้ เพียงแค่เราลองคิดแบบนักออกแบบ ปรับมุมมองโดยทำความเข้าใจทุกฝ่ายมากขึ้น และมองที่ปัญหาจริงๆ ของกลุ่มลูกค้าที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้ เพื่อออกแบบการแก้ไขข้อถกเถียงเรื่องชุดนักเรียนโดยนึกถึงทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
ออกแบบชีวิตเพื่อคนที่ชีวิตออกแบบไม่ได้
แม้ชีวิตจะออกแบบได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถออกแบบชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง คนยากจน ที่ร่วงหล่นออกจากตาข่ายการคุ้มครองทางสังคม
และนี่คือสาเหตุที่ทำให้หนึ่งในคนที่ควรตระหนัก เรียนรู้ และนำกระบวนการคิดเชิงออกแบบไปปรับใช้มากที่สุด คือกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) เพื่อออกแบบนโยบายที่มี ‘คนเป็นศูนย์กลาง’ (human-centered design)
จากรายงาน Putting People at the Heart of Policy Design: Using Human-Centered Design to Serve all ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) อธิบายว่า การออกแบบที่มีคนเป็นศูนย์กลางแยกได้ออกเป็นสองส่วน ประกอบด้วยคุณค่าหลักๆ 3 ข้อ คือความอยากรู้อยากเห็น การมองโลกในแง่ดี และความเห็นอกเห็นใจ
เมื่อขยับมาดูในเชิงกระบวนการ รายงานฯ ดังกล่าวนำเสนอว่า การออกแบบที่มีคนเป็นศูนย์กลางจะ ทำความเข้าใจบริบท โดยการพูดคุยกับผู้ใช้ (user) การทำวิจัย เพื่อให้เข้าใจคนที่เราออกแบบให้ การสังเคราะห์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับไปสู่การปฏิบัติ และ การสร้างต้นแบบ เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์เท่าที่จะเป็นไปได้
สำหรับผู้กำหนดนโยบาย รายงานฯ แนะนำว่า จำเป็นต้องพิจารณาคุณค่าอื่นๆ ประกอบด้วยในการออกนโยบาย อาทิ การวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ บิ๊กเดต้า หรือความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ ข้อมูลอาจจะบ่งชี้ได้ว่าจำเป็นต้องออกนโยบายอะไร (What) แต่สิ่งที่จะบอกได้ว่า นโยบายนั้นต้องทำไปเพื่ออะไร (Why) คือเรื่องของบริบท (Context) ซึ่งผู้กำหนดนโยบายจะต้องรู้ทั้ง ‘อะไร’ และ ‘ทำไม’
อีกประเด็นสำคัญคือการวัดผลสำเร็จของนโยบาย ซึ่งผู้กำหนดนโยบายมักจะวัดผลจากข้อมูลเป็นหลัก แต่กระบวนการคิดเชิงออกแบบจะช่วยทำให้ผู้กำหนดนโยบายเข้าใจมุมมองของมนุษย์และสร้างมาตรวัดที่สะท้อนความสำเร็จจริงๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเรื่องการเลิกบุหรี่ ซึ่งงานวิจัยเชิงคุณภาพระบุว่า การเลิกบุหรี่อาจไม่ได้จัดเป็นความสำเร็จเสมอไป แต่อาจจะเป็นความรู้สึกว่าสามารถควบคุมตนเองได้มากกว่า ดังนั้น จึงควรพิจารณารวมเอามาตรวัดทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการสะท้อนผลสำเร็จที่แท้จริง
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราชวนอ่านตัวอย่างที่น่าสนใจจากอินโดนีเซีย โดยในปี 2017 รัฐบาลอินโดนีเซียร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชียพัฒนาโครงการทำความเข้าใจผลกระทบของการศึกษาทางทะเล (maritime education) และระบบ MET ซึ่งเป็นระบบฝึกฝนด้านวิชาชีพที่ฝึกให้นักเรียนทำงานเกี่ยวกับการเดินเรือ ทั้งลูกเรือ วิศวกร และเจ้าหน้าที่บนเรือพาณิชย์ เรื่องดังกล่าวถือว่าสำคัญมาก เพราะอินโดนีเซียมีพื้นที่ชายฝั่งยาวถึง 81,000 กิโลเมตร และยังมีทำเลที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางขนส่งทางน้ำที่ใหญ่ที่สุด 3 แห่งของโลก ทำให้ภาคส่วนการขนส่งสินค้าทางเรือของอินโดนีเซียเป็นภาคส่วนที่ใหญ่มาก
ต้นเหตุของเรื่องนี้เริ่มจากการที่นักเรียนจำนวนมากในระบบ MET สอบไม่ผ่าน หรือคนที่สอบผ่านก็ต้องรอนาน 6 เดือน – 1 ปีในการหางาน ขณะเดียวกัน นายจ้างก็สะท้อนกลับมาว่านักเรียนที่จบการศึกษาจำนวนมากเป็นเพียงแรงงานกึ่งฝีมือ (semi-skilled worker) มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เป็นแรงงานมีทักษะ
เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชียทำการศึกษาระบบ MET อย่างถี่ถ้วนจากสามมุมมอง ทั้งภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และคน โดยผสมผสานทั้งวิธีเชิงปริมาณแบบดั้งเดิมและวิธีการแบบใหม่ ‘การออกแบบที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง’ เพื่อดูว่านโยบายจะกระทบกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร
ผลการศึกษาที่ได้พบว่า จากมุมมองของภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลที่ได้มาตรงกันคือ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของแรงงาน แต่อยู่ที่คุณภาพของการศึกษาและการฝึกฝน ขณะที่ มุมมองของภาคศึกษา ชี้ให้เห็นปัญหาในเชิงนโยบายของอินโดนีเซียที่ขัดกัน ซึ่งรายงานฯ ชี้ว่า MET ไม่ใช่โปรแกรมเดียวที่ต้องเจอกับปัญหานี้ แต่ยังมีโปรแกรมการศึกษาจำนวนมากที่จะได้รับประโยชน์จากกรอบการศึกษาที่ยืดหยุ่น และสุดท้าย มุมมองของคนเดินเรือ (seafarer) พบว่า เมื่อนักเรียนจบการศึกษา พวกเขาจะมีเส้นทางอาชีพ (แบบไม่เป็นทางการ) จำนวน 6 เส้นทาง แต่จากการสัมภาษณ์นักเรียน พวกเขาต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย ทั้งความซับซ้อนของระบบราชการ การขาดความโปร่งใส รวมถึงความไม่แน่นอนของกระบวนการต่างๆ และปัญหาดังกล่าวก็ยังลากยาวเลยไปจนถึงตอนที่พวกเขาเริ่มประกอบอาชีพแล้วอีกด้วย
เมื่อค้นพบเช่นนี้ ทางทีมศึกษาจึงเริ่มกระบวนการทำงานโดยสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักเรียน และกลุ่มคนเดินเรือ จนสรุปได้ออกมาเป็นรูปแบบ 6 รูปแบบที่มีเส้นทางอาชีพและประสบการณ์กับ MET ที่แตกต่างกัน แต่ต้องเจออุปสรรคในจุดเดียวกัน ได้แก่ ช่วงเลือกอาชีพ ช่วงที่ทำงานกลางทะเล และการเติบโตในช่วงกลางของเส้นทางอาชีพ
การทำงานเช่นนี้เองทำให้ทางทีมศึกษาร่วมกับ MET สามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ โดยสร้างแผนที่การเดินทาง (journey maps) เพื่อผสมผสานความริเริ่มเชิงนโยบายเข้ากับมนุษย์ที่ต้องได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
เพราะนโยบายและความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่ควรอยู่ตรงใจกลางของระบบการศึกษาเสมอ
จะเห็นว่า กระบวนการคิดเชิงออกแบบไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด เพราะไม่ว่าจะระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงระดับนโยบาย เราสามารถนำเอากระบวนการคิดเชิงออกแบบมาปรับ และสอดแทรกองค์ประกอบของความเป็นนักออกแบบเข้าไปได้เสมอ
เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด สุดท้ายแล้วเราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ และสิ่งที่จะตอบรับความต้องการของมนุษย์ได้ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่ด้วยทฤษฎี กระบวนการ หรือแผนการใดๆ แต่เริ่มต้นด้วยการโอบรับและเริ่มต้นเข้าใจอีกฝ่าย
หรือพูดอีกแง่หนึ่ง เราต้องวางตัวเองลงและมองเห็นอีกฝ่ายให้มากขึ้น เพราะบางครั้ง แค่การปรับแนวคิดและออกแบบมุมมองง่ายๆ ก็ทำให้ชีวิตของเราและคนอื่นเปลี่ยนไปได้โดยสิ้นเชิงเช่นกัน
สามารถเรียนรู้เนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Design Thinking บนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ Hook Learning ได้ที่ https://hooklearning.com/course/design-thinking-for-student-life/